ใครจะทราบว่าวันหนึ่งหลอดไฟที่เราใช้อยู่เป็นประจำทุกวัน อาจสร้างความเสียหายให้กับบ้านของคุณชนิดที่ว่า มีเงินเท่าไหร่ก็เรียกคืนสิ่งที่เสียไปกลับมาไม่ได้ อย่างที่โบราณว่า “โจรขึ้นบ้าน 10 ครั้ง ยังไม่เท่ากับไฟไหม้ครั้งเดียว!”
วันนี้ LAMPTAN จึงขอนำความรู้เรื่องการตรวจเช็ควงจร และอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านมาฝากทุกคนครับไปดูกันเลย
สัญญาณเตือนจากอุปกรณ์ไฟฟ้า
1. ให้หมั่นตรวจสอบสายไฟภายในบ้านเป็นประจำ หากพบว่าสายไฟขาดหรือมีรอยฉีกขาดควรทำการแก้ไขโดยทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้อย่างเด็ดขาดนะครับ
2. หลอดไฟไม่ติดหรือดับ อาการเหล่านี้เป็นเสียงเตือนจากหลอดไฟที่บอกกับคุณว่าได้เวลาเปลี่ยนหลอดใหม่แล้วล่ะครับ เพราะหลอดไฟแต่ละดวงนั้นมีอายุการใช้งานที่จำกัด และสภาพของอุปกรณ์ก็จะเสื่อมถอยไปตามเวลา ดังนั้นจึงควรทำการเปลี่ยนใหม่ทันที อย่าปล่อยไว้จนเกิดปัญหาลัดวงจรในภายหลังเลยครับ
3. เปิดสวิทซ์ เดี๋ยวติด เดี๋ยวไม่ติด! ให้ลองตรวจสอบสวิตช์ไฟว่าเสีย สายขาด หรือเกิดการลัดวงจรหรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่สามารถแก้ไขได้ ควรทำการเปลี่ยน หรือทำการเช็ควงจรและไล่สายใหม่ทางที่ดีหาช่างที่มีประสบการณ์มาช่วยดูแลจะดีที่สุดครับ
4. ถ้าไฟดับบ่อยเพราะแผงควบคุมไฟฟ้าตัดไฟ ลองตรวจดูขนาดของฟิวส์ว่ามีขนาดเล็กไปหรือไม่ควรเปลี่ยนให้มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งานภายในบ้านหรือสถานที่นั้น ๆ แต่ถ้าไม่ใช่ ลองตรวจดูอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น เต้ารับ สวิตช์ไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่กำลังเสียบใช้งานอยู่อาจเกิดความผิดปกติหรือลัดวงจร ให้ทำการแก้ไขโดยเร็ว หรือถ้าตรวจพบว่ามีกระแสไฟฟ้าเกินให้แจ้งต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อจะได้ส่งเจ้าหน้าที่มาทำการแก้ไขต่อไปครับ
5. หากพบว่ามีเสียงดังผิดปกติที่บริเวณ สวิตช์ หรือแผงควบคุมไฟฟ้า อาจเกิดจากหน้าสัมผัส (Contact) ของอุปกรณ์นั้นเกิดความร้อนสูง หรือมีสิ่งแปลกปลอมบริเวณหน้าสัมผัสนั้นให้รีบทำการแก้ไขโดยด่วน
6. บางครั้งอาจพบว่ามีเสียงครางออกมาจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ ลองตรวจสอบดูว่าบัลลาสต์หลวมหรือไม่ และหลอดไฟดับ ๆ ติด ๆ อาจเป็นที่สตาร์ทเตอร์เสื่อมสภาพ ให้ทำการเปลี่ยนใหม่ แต่ถ้าบริเวณขั้วหลอดดำก็ควรเปลี่ยนหลอดใหม่เช่นกัน
สิ่งสำคัญสำหรับการตรวจเช็คอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านคือ “สังเกต / ตรวจสอบ / ไม่ละเลย” และควรเลือกซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อป้องกันปัญหาด้านการใช้งานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และอุปกรณ์ไฟฟ้าบางชนิดที่เราไม่สามารถทำการแก้ไขเองได้ก็ไม่ควรเสี่ยงที่จะดำเนินการเองนะครับ ควรให้ช่างผู้เชี่ยวชาญมาทำการแก้ไขจะดีกว่า เป็นยังไงกันบ้างครับสำหรับข้อมูลที่ Lamptan นำมาฝากกันวันนี้ ลองสังเกตอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านของทุกคนดูนะครับว่ามีสัญญาณเตือนอย่างที่ Lamptan บอกไว้บ้างหรือเปล่า กันไว้ก่อนดีกว่าแก้เมื่อสายนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก lamptan.co.th, mwit.ac.th
ขอบคุณภาพจาก pixabay.com